ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน
เกิดเมื่อ วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2431 ที่เรือนไม้หลังหนึ่ง ติดคูด้านใต้วัดพระยาไกร แถวโรงเลื่อยบริษัทบอร์เนียว ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลพระยาไกร อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร (ซึ่งปัจจุบันคือ แขวงวัดพระยาไกร เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร) เป็นบุตรของนายหลีกับนางเฮียะ มีชื่อเดิมภาษาจีนว่า หลีกวงหยง ต่อมา ได้เปลี่ยนเป็น ยง และได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า เสถียรโกเศศ
ด้านครอบครัว
พระยาอนุมานราชธน สมรสกับนางสาวละไม สกุลเดิม อุมารัตน์ บิดาและมารดาแยกทางกันจึงอาศัยอยู่กับป้า ชื่อ แม่หมออี้ ซึ่งเป็นชีอยู่นิกายคริสต์คาทอลิก นางสาวละไมจึงเข้ารีตตามป้าไปด้วย รักของพระยาอนุมานราชธนกับนางสาวละไมเป็นรักแรกพบ มีความประทับใจเมื่อแรกเห็นจึงพยายามทำความรู้จัก และขอนางสาวละไมแต่งงานโดยเหตุที่ว่าเธอเป็นแม่บ้านแม่เรือนรู้จักจัดการต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และคงปรนนิบัติมารดาและพี่น้องของท่านให้ได้รับความสะดวกสบายได้ ท่านมิได้จัดงานเลี้ยง เนื่องจากทางครอบครัวโดยเฉพาะมารดาไม่พอใจกับสะใภ้ที่เข้ารีตผู้นี้ คุณหญิงละไมท่านก็มีขันติอดทนอดกลั้นเป็นอย่างดี พระยาอนุมานราชธนก็มีความซื่อสัตย์ต่อภริยาเป็นอย่างยิ่ง มิได้มีภริยาอื่นเพิ่มเติมอีก ทั้งสองมีบุตรภริยาร่วมกัน 9 คน
ด้านการศึกษา
เมื่ออายุราวห้าหกขวบได้เริ่มเรียนหนังสือกับบิดา โดยต้องตื่นตั้งแต่ตีห้ามาอ่านหนังสือ ครั้นอายุได้สักสิบขวบมารดาก็พาไปฝากเข้าโรงเรียนบ้านพระยานานา อยู่แถวใต้ปากคลองวัดทองเพลง เป็นนิวาสถานเดิมของพระยานานาพิพิธ บุตรชายคนหนึ่งของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ โรงเรียนนี้สอนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เด็กชายยงเรียนได้เร็วมากกว่าคนอื่นเพราะได้เรียนหนังสือมาแล้วกับบิดา ต่อมาจึงเข้าเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ
พ.ศ. 2443 สมัยนั้นเรียนเป็นภาษาอังกฤษ มีสอนภาษาไทยบ้างสัปดาห์ละสองชั่วโมงเท่านั้น ได้เล่าเรียนจบชั้นมัธยม 4 พอขึ้นชั้นมัธยม 5 ก็ต้องออกจากโรงเรียน เพราะครอบครัวมีฐานะไม่ดี รวมทั้งมีพี่น้องหลายคนและพระยาอนุมานราชธนเป็นบุตรคนโต กระนั้นท่านกลับศึกษานอกระบบโรงเรียนและศึกษาตลอดชีวิต ด้วยมีนิสัยรักความรู้ กระทั่งได้ชื่อว่าเป็นนักปราชญ์คนสำคัญของไทยนักปราชญ์และนักการศึกษาคนสำคัญของไทย ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมและเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของโลกชาวไทย ประจำปี พ.ศ. 2531 ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก)
ประวัติการทำงาน
หลังออกจากโรงเรียนท่านได้เริ่มชีวิตการทำงานด้วยการไปฝึกหัดผสมยาที่โอสถศาลาของรัฐบาล และได้เรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมในตอนกลางคืน แต่เมื่อมิได้รับเบี้ยเลี้ยง จึงลาออกไปทำงานโรงแรมโอเรียนเต็ล ได้เงินเดือนๆ ละ 60 บาท ทำได้ไม่ถึงปีจึงลาออกไปทำงานที่กรมศุลกากรในตำแหน่งเสมียน เงินเดือนๆ ละ 50 บาท ทั้งนี้เพื่อมีเวลาพักผ่อนมากกว่าและรับยกเว้นเกณฑ์เข้าเป็นทหารด้วย ที่กรมศุลกากร พระยาอนุมานราชธนได้พบนายนอร์แมน แมกสแวล ผู้เป็นทั้งหัวหน้าและเป็นผู้สอนภาษาอังกฤษให้พระยาอนุมานราชธนจนแตกฉาน รับราชการก้าวหน้ามาโดยตลอด และได้เลื่อนตำแหน่งจากขุน เป็นหลวง เป็นพระ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเมื่ออายุได้ 36 ปี ในปี พ.ศ. 2467
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีเหตุต้องออกจากราชการในปี พ.ศ. 2476 ซึ่งขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดี แต่สองปีถัดมา หลวงวิจิตรวาทการซึ่งเป็นอธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ได้ชวนให้กลับมารับราชการที่กรมศิลปากร และด้วยความรู้ความสามารถของท่านจึงได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นตามลำดับ ตำแหน่งสุดท้ายได้เป็นอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งภายหลังการเกษียณอายุราชการและการต่ออายุราชการหลายครั้ง จึงออกจากราชการมารับบำนาญ หลังเกษียณอายุแล้ว ท่านก็ยังคงเขียนหนังสือและตำราออกมาอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะงานเขียนร่วมกับพระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) ซึ่งมักทำงานด้วยกันโดยใช้นามปากกาว่า เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เรียบเรียงหนังสือ ตำรา และวรรณกรรมอันทรงคุณค่าออกมาเป็นจำนวนมาก
เกียรติยศที่ได้รับ
ได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า เสถียรโกเศศ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเมื่ออายุได้ 36 ปี ในปี พ.ศ. 2467
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น