กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

 

 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ 

       อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตประธานสมัชชาองค์การสหประชาชาติ และอดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน รวมถึงเป็นผู้ร่วมสถาปนสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พระปรีชาสามารถในด้านการทูตและการต่างประเทศเป็นที่ยอมรับในระดับโลก และทรงมีชื่อเสียงการบัญญัติศัพท์ในภาษาไทย ทั้งยังทรงเป็นผู้วางกฎเกณฑ์ในการบัญญัติศัพท์ภาษาต่างประเทศด้วยคำบาลีและสันสกฤต   

 พระประวัติและการศึกษา
          พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ หรือ พระองค์วรรณ เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และ หม่อมหลวงต่วนศรี (มนตรีกุล) วรวรรณ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร
         ทรงเริ่มศึกษาที่โรงเรียนราชวิทยาลัยสมัยบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จากนั้น ย้ายไปเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย1ปี  ต่อมาเมื่อ โรงเรียนราชวิทยาลัย สมัยสายสาวลี เปิดทำการจึงย้ายมาศึกษาต่อ และสอบได้ทุน King's scholarship ได้เดินทางไปศึกษาต่อยัง ประเทศอังกฤษ โดยเข้าอยู่ประจำที่ 'วิทยาลัยแบเลียล' (Balliol College) มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีในระดับเกียรตินิยมและปริญญาโท จากคณะบูรพคดีศึกษา (Oriental Studies) สาขา ภาษาบาลี และ สันสกฤต ที่สถาบันตะวันออก ของ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ท่านจึงมีความสามารถในการบัญญัติศัพท์ กระทั่งเป็นผู้วางกฎ เกณฑ์การบัญญัติศัพท์โดยใช้คำบาลีและสันสกฤตให้ราชบัณฑิตยสถาน และใช้มาจนกระทั่งทุกวันนี้
มีคำศัพท์มากมายที่ทรงบัญญัติและยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น
  • อัตโนมัติ (Automatic)
  • รัฐธรรมนูญ (Constitution)
  • ประชาธิปไตย (democracy)
  • โทรทัศน์ (television)
  • วิทยุ (radio)

ผลงานอันเป็นคุณค่าของแผ่นดิน


ทรงเป็นนักการทูต - นักหนังสือพิมพ์ - นักปรัชญา - นักประวัติศาสตร์ - นักภาษาศาสตร์ - นักประพันธ์ 

นักการทูตที่ยิ่งใหญ่
       กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเป็นนักการทูตที่ยิ่งใหญ่ และมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับการทูตและการต่างประเทศมาเกือบตลอดพระชนม์ชีพ กระทั่งได้รับการยกย่องจากเวทีทางการทูตโลกให้ดำรงตำแหน่งประธานในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ
        ทรงเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้นั่งเก้าอี้อันทรงเกียรติจวบจนถึงปัจจุบันพระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติได้สร้างคุณูปการให้กับประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง และในต่างประเทศทรงได้รับการยกย่องเป็น "ดวงปัญญาแห่งภาคพื้นตะวันออก"
       ในความเป็นอัจฉริยะ เป็นปราชญ์ในวิชาการหลาย ๆ ด้าน ไม่เฉพาะเป็นนักการทูตชั้นเอก ยังทรงเชี่ยวชาญในด้านการบริการ ด้านภาษาศาสตร์ ทรงบัญญัติศัพท์ ทรงปรีชาสามารถในการถอดรหัสคำจากภาษาต่างประเทศเป็นคำไทยได้อย่างลงตัวจนเป็นที่ยอมรับและใช้กันต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
         ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจโดยไม่เคยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนพระองค์แต่ประการใด หากมีปัญหาก็ทรงหาทางแก้ไข หรือไกล่เกลี่ย หรือถ้ามีผู้โจมตีกล่าวหาใส่ร้าย ท่านจะไม่ทรงโต้ตอบ นี่คือคุณลักษณะที่ได้รับยกย่องและกล่าวขวัญถึงมากที่สุด   
       ทรงอ้างแนวทางการทูตของ Sir Ernest Satow เป็นหลักในการปฏิบัติงานมาโดยตลอดว่า
"การทูตเป็นการใช้เชาวน์และความแนบเนียน ในการดำเนินความสัมพันธ์ทางราชการระหว่างประเทศ"
          ทรงแนะนำว่า ความแนบเนียน หรือ "แทกต์" นั่นหมายความว่า การเข้าคนได้สนิท ต้องผูกมิตร รู้จักนิสัยใจคอของนักการทูตจากประเทศอื่น ๆ ที่ติดต่อเจรจากันอยู่  

สิ้นพระชนม์  เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2519 สิริพระชันษา 85 ปี


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น